การวิจารณ์หนังสือ ปุลากง

วิจารณ์หนังสือเล่มโปรดของฉัน
เรื่อง……ปุลากง
ของ   โสภาค   สุวรรณ
                หนังสือเรื่อง ปุลากง ได้เป็นบทประพันธ์ของ โสภาค สุวรรณ  ซึ่งทาน โสภาค สุวรรณ  เป็นนักประพันธ์ที่ได้รับความนิยมมาเป็นเวลานานมาก  แล้วเรื่อง  ปุลากง นี้ เคยได้รับรางวัลชมเชยมาแล้วครั้งหนึ่ง  จากการประกวดหนังสือในงานครบรอบร้อยปีของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และยังได้รับคัดเลือกให้เป็นนวนิยาย อ่านนอกเวลาวิชาภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จากคุณค่าของเนื้อหา และความคิดของตัวละคร ทำให้ดิฉันมีความรัก ความชอบ หนังสือเล่มนี้มาก และยังให้ความสนใจกับหนังสือเรื่อง ปุลากง มากอีกด้วย
                “ ปุลากง ”  หนังสือของ โสภาค สุวรรณ เป็นนวนิยายที่มีคุณค่าในหลายๆด้าน ตั้งแต่เริ่มต้น ตัวละครทุกตัวมีบทบาทสำคัญ และมีความคิดที่น่าจะมาเป็นแบบอย่างได้ เริ่มเรื่องโดยความคิดของเด็กน้อยที่ชื่อ ศกร หรือ เข้ม หนุ่มน้อยที่มีแม่เป็นเมียน้อยของพ่อตน ศกรเป็นเหมือนเด็กเก็บกด เป็นคนพูดจาห้วนๆ เจ้าอารมณ์ กิริยาท่าทางมักดูก้าวร้าว ผู้เป็นพ่อจึงไม่ค่อยให้ความสนใจ จึงทำให้ศกรเป็นเด็กขาดความอบอุ่น ความรักจากพ่อของตน ศกรอาศัยอยู่ที่บ้านหลังเล็กกับแม่ของตน โดยมีพี่สาวต่างมารดา คอยห้ามปรามและให้คำปรึกษา เธอมีนิสัยที่ดีและจิตใจงดงาม เป็นคนใจเย็น อัมพิกาเป็นคนเดียวที่ศกรยอมเรียกเธอว่าพี่ ศกรเคยหลงผิดไปเล่นการพนัน แต่เขาก็ไม่ถึงกับหลงงมงาย ศกรเป็นเด็กที่มีสติรอบคอบ คิดการณ์ไกล เป็นคนมีความคิดโตเป็นผู้ใหญ่ ผิดกับ หนูตุ่น เด็กสาวจอมดื้อ หนูตุ่นคือลูกสาวของครูพิรุณ ผู้สอนเปียโนให้อัมพิกา จากความแตกต่างของทั้งคู่ ไม่มีความคิดเลยว่าจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ จะเป็นเพราะเด็กน้อยสองคนที่ขัดแย้งไม่ชอบหน้ากัน เพราะหนูตุ่นเป็นคนยิ้มเก่ง แตกต่างกับศกร ที่มักจะไม่มีรอยยิ้มบนหน้าเขาเลย ศกรกับหนูตุ่นมักจะทะเลาะกันทุกครั้งที่เจอหน้า แต่แม่ของศกรชอบหนูตุ่นมาก หนูตุ่นเองก็ชอบแม่ของศกรเหมือนกัน เพราะท่านเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใตดี แตกต่างกับลูกชายโดยสิ้นเชิง แต่ใครจะรู้ว่าความแตกต่างของทั้งคู่ คือความเหมือนกันในอุดมคติ ศกรหนุ่มน้อยที่ทนสู้กับความทุกข์ ความยากลำบาก ขยันอดทน จนได้สอบติดตำรวจ อาชีพราชการเช่นเดียวกับพ่อของตน แต่ศกรกลับไม่มีความคิดที่จะทำงานสบาย อยู่ในกรุง แต่กลับอยากใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด โดยจะเอาแม่ของตนไปอยู่ด้วย แต่แม่ของตนเชื่อมั่นในความรัก  และยืนยันจะดูแลพ่อของศกรยามแก่เฒ่า ตนจึงไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของมารดาได้  ศกรเป็นตำรวจด้วยใจรัก อยากพัฒนาประเทศชาติอย่างแท้จริง ไม่ได้หวังอำนาจเงินทองหรือเกียรติยศ  ส่วนหนูตุ่นเองจากเด็กน้อยที่อยู่กับแม่และเพื่อนสนิทของเธอที่ชื่อวีรุทย์ แบบมีความสุขมาโดยตลอด เป็นเด็กที่พร้อมทุกอย่าง ทั้งด้านสังคมรอบข้าง ด้านจิตใจ กลับกลายเป็นเด็กที่กำพร้าแม่ และอยู่ด้วยตนเองมาโดยตลอด ถึงแม้ทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่เธอก็ผ่านช่วงชีวิตที่เลวร้ายมาได้ ด้วยชีวิตที่ไม่ชอบความวุ่นวาย เธอจึงเลือกเรียนครูและจบพัฒนากรมา  เธอเลือกที่จะทำงานยากลำบากแต่เต็มไปด้วยความสุขของคนส่วนมาก ทำเพื่อส่วนรวมด้วยความเต็มใจ และก็มาถึงจุดสำคัญของเรื่อง คือนักพัฒนากรสาวคนสวย ได้มาปฏิบัติหน้าที่ในหมู่บ้านตำบล  ปุลากง ”  อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ที่ที่เป็นจุดสำคัญของนวนิยายเรื่องนี้ นักพัฒนากรคนสวย ได้เป็นที่รักใคร่ของชาวบ้านมาก เพราะมีความสามารถในหลายด้าน และยังเป็นคุณครูให้กับเด็กๆในหมู่บ้านอีกด้วย ผู้หญิงที่หุ่นบางร่างเล็ก ไม่น่าจะมีความสามาพัฒนาอะไรได้ แต่กลับสามารถพัฒนาถนนหมู่บ้าน โรงเรียน ห้องน้ำ และพัฒนาอีกหลายอย่างให้บุคคลกลุ่มน้อย ให้มีความเสมอภาคเสมอปลายกับคนในเมือง ทั้งนี้ทั้งนั้น พัฒนากรคนนี้ ยังมีความคิดที่จะปลูกฝังให้ชาวบ้านและเด็กในหมู่บ้าน มีจิตสำนึกให้รู้รักบ้านเกิดของตนเองอีกด้วย ถึงจะต่างศาสนาแต่ก็อยู่แผ่นดินเดียวกัน นักพัฒนากรสาวจึงเป็นแบบอย่าง ให้บุคคลที่คิดจะพัฒนาประเทศได้ อยู่มาได้ไม่นาน ก็มีหนุ่มรูปเข้มหน้าตาคม ดูดี  เป็นตำรวจฝีมือดีที่จะมาช่วยดูแลในหมู่บ้าน คนๆนั้นจะเป็นใครไม่ได้เลย นอกจากตัวละครเอกของเรื่องศกร หนุ่มชายที่ไม่ถูกชะตากับศุภราเลย แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะพรหมลิขิต หรือเหตุใดที่ทำให้ทั้งสอง กลับมาพบกันอีกครั้ง ด้วยสายตาของศกรที่ไม่เปลี่ยนไปจากเดิม จึงทำให้ศุภราจำเขาได้  ทั้งสองมีอุดมคติเหมือนกัน คือคิดที่จะพัฒนาประเทศ โดยเริ่มต้นจากชุมชนเล็กๆ แต่เป็นใจกลางของประเทศ เขาทั้งสองคิดที่จะพัฒนาและให้ความยุติธรรม  กับบุคคลที่ควรได้รับสิทธิเทียบเท่ากับประชาชนทั่วไป เขาทั้งสองพร้อมจะลำบากเพื่อประเทศชาติเหมือนกัน และด้วยศกรเองก็รู้สึกดีกับศุภรา แต่ก็ยังไม่ยอมรับความรู้สึกตัวเอง ว่ามันคือความรักจนมีอาการหึงหวงศุภราขึ้น จนต้องสารภาพความในใจ ที่มีทั้งหมดออกไป การจบของนวนิยายนี้ ไม่เหมือนกับนวนิยายเรื่องอื่นๆ บุคคลทั้งสองได้รักกัน แต่ก็ไม่ลืมที่จะเสริมสร้างและแก้ไขปัญหา การพัฒนายังเป็นประเด็นสำคัญ ที่ทั้งสองต้องการจะทำให้สำเร็จ และยังคิดป้องกันการรุกรานจากกลุ่มก่อการร้ายที่เข้ามายุยงให้เกิดการแตกแยกในประเทศ
                จากการที่อ่านมาทั้งหมด ผู้แต่งได้มีการผูกปมตัวละครเอกทั้งสองไว้อย่างดี ผลงานของโสภาค สุวรรณ ได้มีการแทรกสอดปัญหาของประเทศ และแนวการคิดแก้ไขปัญหาผ่านตัวละครคือ ศกร และ
ศุภรา พัฒนากรสาวกับหนุ่มในเครื่องแบบคนเก่ง นอกจากนี้ ปุลากง ยังมีการสอดแทรกให้รู้รักบ้านเกิดของชนชาวไทยอีกด้วย  โดยการตัดภาพไปที่ชาวบ้านที่รอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล และมีการแสดงความคิดความต้องการในการศึกษา ของเด็กในตำบลปุลากง ให้สะท้อนถึงความต้องการ ของเด็กที่ไม่มีโอกาสเรียน แต่มีความขยันความพยายาม ผลักดันตัวเองให้มีโอกาสได้เรียน ได้เหมือนเด็กคนอื่นๆ
                แรงจูงใจของนวนิยายเรื่องนี้ ก็คือบุคลิกของตัวละครตัวเอกคือ ศกร หนุ่มผิวสีเข้มหน้าตาดี ผู้มีความคิดหลักการเป็นผู้ใหญ่ ไม่เที่ยวเตร่ รักครอบครัว กตัญญู มีความคิดที่จะทำเพื่อประเทศชาติ และ
ศุภรา สาวผิวขาว ผ่องใส ตัวเล็ก น่ารัก พัฒนากรตัวน้อยคนเก่ง ที่ทำหน้าที่ได้มากกว่าผู้หญิงทั่วไป และตัวละครอีกหลายตัว ที่มีบทบาทในนวนิยาย ที่มีอุดมคติความคิด ที่จะแก้ไขปัญหา และเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม ในความคิดของดิฉันเอง มีส่วนที่ประทับใจมากที่สุดในนวนิยายเรื่องนี้คือ ความคิดของศุภรา พัฒนากรสาวที่คิดจะปลูกฝังให้ชนรุ่นหลังสำนึกในแผ่นดินไทย ที่ทุกคนเป็นเจ้าของ ทุกคนจะต้องมีความรักชาติ ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ถึงแม้ชาวบ้านในตำบลปุลากง จะต่างกันที่ศาสนาที่พวกเขานับถือ ภาษาที่พูด ประเพณีวัฒนธรรมที่ชาวปุลากงทำ ไม่ได้เป็นเกณฑ์ที่แสดง ว่าเขาไม่ใช่คนไทย และความคิดที่จะพัฒนาหมู่บ้านเล็กๆ ให้มีความเจริญ ทั้งทางด้านการเดินทาง ด้านการศึกษา

                ปุลากง ผลงานของ โสภาค สุวรรณ นั้นเป็นผลงานที่มีคุณค่าให้แง่คิดที่เหมาะสมกับสภาพสังคม ไทยในหลายๆด้าน ผู้เขียนได้ปลูกฝังจิตสำนึก ให้คนไทยมีความรัก ความสามัคคี เพื่อชาติไทยได้แล้ว เราควรทำให้เป็นวัฒนธรรมแก่ชนรุ่นหลัง ได้ทำตามแบบอย่างที่ดี ผลงานชิ้นนี้เป็นพื้นฐานให้ผู้อ่าน ได้มีความคิดไตร่ตรอง ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร ในเมื่อตนเองก็เป็นเยาวชนคนหนึ่ง เพราะเหตุนี้หนังสือเล่มนี้ จึงเป็นหนังสือเล่มโปรดของดิฉัน  เพราะดิฉันคิดว่า สักวันดิฉันจะต้องเป็นเยาวชน ที่สามารถพัฒนา และเป็นส่วนหนึ่งที่จะอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งที่ดีให้ดียิ่งขึ้นในประเทศชาติได้
  อ้างอิงโดย นางสาวภาวิณี คงร้อย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรียงความปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

รับจ้างเขียนเรียงความ บทความ พิมพ์งาน